ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (4) ❘ Chersery Home


ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (4) ❘ Chersery Home

ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (4)

อีกหนึ่งหัวข้อที่มีความสำคัญกับกระบวนการกลืนของคนเรา นั่นก็คืออาหารและน้ำ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากนั้นมีความสามารถในการกลืนอาหารที่ลดลง ทำให้กลืนอาหารบางประเภททำได้ได้ยากขึ้น การฝึกกลืนโดยใช้อาหารและน้ำนั้น ควรอยู่ภายใต้การดูแลและการให้คำนำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการสำลัก อันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะปอดอักเสบได้ หากเป็นบ่อย อาหารและน้ำที่ใช้ในการฝึกกลืนนั้นเราสามารถแบ่งได้เป็น 8 ระดับ โดยแบ่งเป็นน้ำหรือของเหลว 3 ระดับ และอาหาร 5 ระดับ ดังนี้

ประเภทของน้ำหรือของเหลว

1. Thin – liquid หรือที่เราเรียกว่าระดับ Nectar
เมื่อผสมผงหนืด ของเหลวที่อยู่ในระดับนี้จะมีลักษณะใกล้กับน้ำหรือของเหลวมากที่สุด เพียงแต่มีความหนืดกว่าและไหลได้ช้ากว่าน้ำหรือของเหลวเล็กน้อย  ตัวอย่างอาหารระดับดังกล่าว ได้แก่ นม, น้ำผลไม้, ซุปใส เป็นต้น

2. Medium thick liquid หรือที่เราเรียกว่าระดับ Honey
เมื่อผสมผงหนืด ของเหลวที่อยู่ในระดับนี้จะมีความหนืดกว่าและไหลได้ช้ากว่าของเหลวระดับแรก เวลาใช้ช้อนตักแล้วเทลงมาจะมีลักษณะตกลงมาเป็นสายคล้ายน้ำผึ้ง ไม่คงตัวเมื่อเทจากช้อน ตัวอย่างอาหารระดับดังกล่าว ได้แก่ ซุปที่มีลักษณะเป็นเนื้อครีม, น้ำผึ้ง, โยเกิร์ตพร้อมดื่ม เป็นต้น

3. Thick liquid หรือที่เราเรียกว่าระดับ Pudding
เมื่อผสมผงหนืด ของเหลวที่อยู่ในระดับนี้จะมีความหนืดมากที่สุดใน 3 ระดับและมีความหนืดใกล้เคียงกับอาหารระดับที่ 1 เวลาใช้ช้อนตักจะคงรูปร่างบนช้อนได้ จับตัวเป็นก้อนได้ในระดับหนึ่ง ตัวอย่างอาหารระดับดังกล่าว ได้แก่ โยเกิร์ตข้น, ผลไม้ปั่นน้ำน้อยไม่แยกกาก, ไอศครีม เป็นต้น


ประเภทของอาหาร

1. Thick – pureed หรืออาหารปั่นข้นหนืด
เป็นอาหารที่มีลักษณะข้นเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีกากอาหาร เหมาะสำหรับเป็นอาหารฝึกกลืนระยะแรกสำหรับผู้ป่วยที่ยังบังคับการเคี้ยวหรือการกลืนได้ไม่ดีหรือมีความเสี่ยงต่อการสำลักง่าย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการสำลัก ตัวอย่างอาหารเช่น โจ๊กปั่นข้น, ซุปข้นต่าง ๆ ที่ผ่านการกรองเอากากอาหารออก, ฟังทองบด, โยเกิร์ต, ไอศครีม, มันบด, พุดดิ้งเนื้อมูส, ผลไม้ปั่นข้นกรองกากออก เป็นต้น


2. Thick and thin pureed and thick liquid หรืออาหารปั่นหนืด
เป็นอาหารที่มีลักษณะเหมือนอาหารประเภทแรกแต่มีความข้นน้อยกว่า มีปริมาณน้ำในเนื้ออาหารเพิ่มขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยที่สามารถกลืนระดับที่ 1 ได้ดีขึ้น


3. Mechanical soft diet หรืออาหารอ่อนเคี้ยวง่าย
เป็นอาหารที่มีลักษณะอ่อนนิ่ม มีกากอาหารได้ ต้องหั่นให้มีขนาดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เคี้ยวได้ง่ายไม่แข็งจนเกินไป ไม่แห้งแต่ก็ไม่เป็นน้ำมากเกินไป เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้น ทานระดับที่ 2 ได้ดี เริ่มที่จะฝึกเคี้ยวร่วมด้วย มีปัญหาการกลืนของเหลว (ยังไม่สามารถกลืนน้ำหรือของเหลวปกติได้) หรือผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน หรือผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม ตัวอย่างอาหาร ข้าวต้มข้น, ราดหน้าหั่นชิ้นเล็ก ๆ ผลไม้สุกนิ่ม อาหารต่าง ๆ ที่มีการสับหรือบดในส่วนของเนื้อสัตว์ เนื้อตุ๋นต้มจนเปื่อย เป็นต้น


4. Soft diet หรืออาหารอ่อน
เป็นอาหารที่มีลักษณะอ่อนนิ่ม เหมือนระดับที่ 3 แต่ไม่จำเป็นต้องหั่นชิ้นเล็ก ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาการบดเคี้ยวหรือปัญหาการกลืนของเหลว สามารถกลืนของเหลวระดับที่ 2 และ 3 ได้ดี ตัวอย่างอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว, ราดหน้า, ข้าวต้มทรงเครื่อง เป็นต้น
5. Regular diet หรืออาหารปกติ เป็นอาหารทั่วไปที่ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้

เรียบเรียงโดย
นางสาวจริญญา บุญริ้ว และ นายฐิติวัฒน์ ศรีบุญธรรม

โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home
Tel: 084-264-2646
Line id: @cherseryhome
Facebook: cherseryhome
www.cherseryhome.com
บอก"รัก"ผู้สูงวัย เชื่อใจให้เราดูแล
All the best for your elder

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy