ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (5) ❘ Chersery Home


ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (5)  ❘ Chersery Home

ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (5)
เทคนิคช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการกลืนของผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก

ตำแหน่งของการวางอาหาร (Food placement)
มีความสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยกลืนได้ง่ายขึ้น และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในการกลืน โดย สามารถทำได้ดังนี้
• วางอาหารที่โคนลิ้นร่วมกับการกดปลายช้อนลง จะช่วยกระตุ้นการรับความรู้สึกและกระตุ้นการกลืน
• วางอาหารด้านที่แข็งแรง จะช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้นและลดโอกาสเสี่ยงที่อาหารจะตกค้างอยู่ในช่องปากด้านที่อ่อนแรง
• ป้อนของเหลว โดยเริ่มจาก syringe ช้อน หลอดและดื่มจากแก้วตามลำดับและตามความ สามารถของผู้ป่วย
• ใช้ช้อนแตะบริเวณริมฝีปากด้านล่างก่อนจะป้อนอาหาร จะช่วยกระตุ้นการอ้าปากของผู้ป่วยที่ มีปัญหาการรับความรู้สึกบริเวณช่องปากลดลง

การจัดท่าทางและการเคลื่อนไหวขณะรับประทานอาหาร (Positioning and mobility)

การจัดให้ลำตัวอยู่ในท่าที่มั่นคงและเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกลืน โดยควรจัดให้ผู้รับประทานอาหารอยู่ในท่านั่งจะช่วยกระตุ้นการตื่นตัวได้มากขึ้น ฝึกนั่งบนเก้าอี้หรือ Wheelchair วางเท้าและแขนในท่าทางที่ถูกต้อง จะช่วยพัฒนาการทรงท่าให้อยู่ในท่านั่งได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถทรงท่าอยู่ในท่านั่งได้เอง ผู้ดูแลหรือญาติควรช่วยจัดท่าให้ผู้ป่วยนั่งพิงกับเตียงหรือเก้าอี้ ศีรษะและลำตัวตั้งตรง จัดแขนวางบนโต๊ะข้างเตียง

การดูแลความสะอาดภายในช่องปาก (Oral care)

เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยกลืนลำบาก หากช่องปากสะอาด ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จะสามารถช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการสำลักสิ่งตกค้างและเสมหะภายในช่องปากลงไปสู่ปอด ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อได้ ดังนั้นก่อนจะเริ่มรับประทานอาหาร ควรเช็คทำความสะอาดภายในช่องปากของผู้ป่วยเสียก่อน เช่น การบ้วนปาก หรือเช็ดทำความสะอาดภายในช่องปากด้วยสำลีพันก้านในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถบ้วนปากเองได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดูแลความสะอาดภายในช่องปากแล้ว การกระทำเหล่านี้ยังจะเป็นการกระตุ้นการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึกภายในช่องปาก และยังเป็นการกระตุ้นการหลั่งน้ำลายเพื่อทำให้ปากมีความชุ่มชื้นอีกด้วย

การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร (Behavioral strategies)

• การปรับเปลี่ยนขนาดอาหารตามความเหมาะสม เช่น ปรับให้มีขนาดที่เล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการกลืน แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยมีการรับความรู้สึกของอวัยวะภายในช่องปากลดลงอาจจะใช้อาหารคำใหญ่และทำให้เป็นก้อน เพื่อกระตุ้นความรู้สึกบริเวณคอหอย
• การรับประทานของแข็งและของเหลวสลับกัน สำหรับผู้ป่วยที่มักจะมีเศษอาหารตกค้าง ให้กลืนอาหารแข็งและจิบของเหลวสลับกัน เพื่อช่วยให้อาหารได้ตกลงสู่หลอดอาหารทั้งหมด
• การกลืนซ้ำ ในผู้ป่วยที่มักจะมีเศษอาหารตกค้างอยู่ภายในปาก ผู้ดูแลหรือญาติควรหมั่น กระตุ้นให้กลืนซ้ำ เพื่อช่วยให้อาหารตกลงสู่หลอดอาหารทั้งหมด

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามและให้ความสนใจอย่างดีกับบทความเรื่องภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ หวังว่าบทความที่ทางเราได้นำเสนอไปนั้นทุกคนจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับครั้งต่อไปทางเราจะมีบทความอะไรที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกันอีกนั้น ฝากติดตามด้วยนะคะ

เรียบเรียงโดย
นางสาวจริญญา บุญริ้ว และ นายฐิติวัฒน์ ศรีบุญธรรม

โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home
Tel: 084-264-2646
Line id: @cherseryhome
Facebook: cherseryhome
www.cherseryhome.com
บอก"รัก"ผู้สูงวัย เชื่อใจให้เราดูแล
All the best for your elder

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้