ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (5) ❘ Chersery Home


ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (5)  ❘ Chersery Home

ภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ (5)
เทคนิคช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการกลืนของผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก



ตำแหน่งของการวางอาหาร (Food placement)
มีความสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยกลืนได้ง่ายขึ้น และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในการกลืน โดย สามารถทำได้ดังนี้
• วางอาหารที่โคนลิ้นร่วมกับการกดปลายช้อนลง จะช่วยกระตุ้นการรับความรู้สึกและกระตุ้นการกลืน
• วางอาหารด้านที่แข็งแรง จะช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้นและลดโอกาสเสี่ยงที่อาหารจะตกค้างอยู่ในช่องปากด้านที่อ่อนแรง
• ป้อนของเหลว โดยเริ่มจาก syringe ช้อน หลอดและดื่มจากแก้วตามลำดับและตามความ สามารถของผู้ป่วย
• ใช้ช้อนแตะบริเวณริมฝีปากด้านล่างก่อนจะป้อนอาหาร จะช่วยกระตุ้นการอ้าปากของผู้ป่วยที่ มีปัญหาการรับความรู้สึกบริเวณช่องปากลดลง

การจัดท่าทางและการเคลื่อนไหวขณะรับประทานอาหาร (Positioning and mobility)
การจัดให้ลำตัวอยู่ในท่าที่มั่นคงและเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกลืน โดยควรจัดให้ผู้รับประทานอาหารอยู่ในท่านั่งจะช่วยกระตุ้นการตื่นตัวได้มากขึ้น ฝึกนั่งบนเก้าอี้หรือ Wheelchair วางเท้าและแขนในท่าทางที่ถูกต้อง จะช่วยพัฒนาการทรงท่าให้อยู่ในท่านั่งได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถทรงท่าอยู่ในท่านั่งได้เอง ผู้ดูแลหรือญาติควรช่วยจัดท่าให้ผู้ป่วยนั่งพิงกับเตียงหรือเก้าอี้ ศีรษะและลำตัวตั้งตรง จัดแขนวางบนโต๊ะข้างเตียง

การดูแลความสะอาดภายในช่องปาก (Oral care)
เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยกลืนลำบาก หากช่องปากสะอาด ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จะสามารถช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการสำลักสิ่งตกค้างและเสมหะภายในช่องปากลงไปสู่ปอด ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อได้ ดังนั้นก่อนจะเริ่มรับประทานอาหาร ควรเช็คทำความสะอาดภายในช่องปากของผู้ป่วยเสียก่อน เช่น การบ้วนปาก หรือเช็ดทำความสะอาดภายในช่องปากด้วยสำลีพันก้านในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถบ้วนปากเองได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดูแลความสะอาดภายในช่องปากแล้ว การกระทำเหล่านี้ยังจะเป็นการกระตุ้นการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึกภายในช่องปาก และยังเป็นการกระตุ้นการหลั่งน้ำลายเพื่อทำให้ปากมีความชุ่มชื้นอีกด้วย

การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร (Behavioral strategies)
• การปรับเปลี่ยนขนาดอาหารตามความเหมาะสม เช่น ปรับให้มีขนาดที่เล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการกลืน แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยมีการรับความรู้สึกของอวัยวะภายในช่องปากลดลงอาจจะใช้อาหารคำใหญ่และทำให้เป็นก้อน เพื่อกระตุ้นความรู้สึกบริเวณคอหอย
• การรับประทานของแข็งและของเหลวสลับกัน สำหรับผู้ป่วยที่มักจะมีเศษอาหารตกค้าง ให้กลืนอาหารแข็งและจิบของเหลวสลับกัน เพื่อช่วยให้อาหารได้ตกลงสู่หลอดอาหารทั้งหมด
• การกลืนซ้ำ ในผู้ป่วยที่มักจะมีเศษอาหารตกค้างอยู่ภายในปาก ผู้ดูแลหรือญาติควรหมั่น กระตุ้นให้กลืนซ้ำ เพื่อช่วยให้อาหารตกลงสู่หลอดอาหารทั้งหมด

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามและให้ความสนใจอย่างดีกับบทความเรื่องภาวะกลืนลำบากภัยเงียบในผู้สูงอายุ หวังว่าบทความที่ทางเราได้นำเสนอไปนั้นทุกคนจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับครั้งต่อไปทางเราจะมีบทความอะไรที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกันอีกนั้น ฝากติดตามด้วยนะคะ

 

---------------------------------------------------------------

เรียบเรียงโดย
นางสาวจริญญา บุญริ้ว และ นายฐิติวัฒน์ ศรีบุญธรรม

โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home
Tel: 084-264-2646
Line id: @cherseryhome
Facebook: cherseryhome
www.cherseryhome.com
บอก"รัก"ผู้สูงวัย เชื่อใจให้เราดูแล
All the best for your elder

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy