คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกควรเป็นอย่างไร?


คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกควรเป็นอย่างไร?

คุณภาพชีวิตที่ดีกับอัมพาตครึ่งซีก
คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกควรเป็นอย่างไร?

คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยคือ การที่ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการดำรงชีวิตอยู่ สามารถดูแลและช่วยเหลือตนเองได้เต็มศักยภาพที่เหลืออยู่ของตน มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี สามารถมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้อย่างมีความสุข ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือช่วยเหลือตนเองได้จำกัดการมีคุณภาพชีวิตที่ดีคือ การที่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมกับอาการของโรคและรู้ถึงวิธีการป้องกันความเสี่ยงอันทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกนั้นมีหลายรูปแบบขึ้นกับการฟื้นตัวของพยาธิสภาพในสมองและการบำบัดฟื้นฟูระหว่างที่เป็น โดยจะมีระดับอาการตั้งแต่นอนติดเตียงไปจนถึงสามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของการฟื้นฟูศักยภาพผู้ป่วยหลังเป็นอัมพาตครึ่งซีกที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย หากต้องการให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น

วิธีการดูแลขั้นพื้นฐานที่ญาติหรือผู้ป่วยควรรู้คือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยการป้องกันภาวะแทรกซ้อนนั้นนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีอาการแย่ลงแล้ว ยังสามารถเป็นได้ทั้งการฝึกร่างกายหรือการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงหรือสูญเสียไปของผู้ป่วยให้กลับมาทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงกับความสามารถเดิมได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผ่านการฝึกหรือส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายและให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆด้วยตนเองตามศักยภาพสูงสุดที่ผู้ป่วยมี จะทำให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี รู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข


โดยหัวข้อแรกที่เราจะมาพูดกันในวันนี้ คือ การจัดท่าในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ส่วนจะมีเทคนิคหรือวิธีการอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันได้เลยครับ
การจัดท่าในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก การฟื้นตัวในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกนั้น จะเร็วหรือช้า มักจะขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของระบบประสาทที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปการฟื้นตัวของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก มักจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ

1.ระยะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
2.ระยะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
3.ระยะกล้ามเนื้อฟื้นตัวทำงานได้ (Levit, 2002)

นอกจากนี้ การฟื้นตัวจะสามารถเกิดขึ้นได้เร็วหรือช้านั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพแล้ว ยังสามารถขึ้นอยู่กับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นผู้บำบัด ญาติหรือผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยกันป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และการจัดท่าผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกให้ถูกต้อง ก็เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอีกหนึ่งวิธีครับ

การจัดท่าในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
การจัดท่าในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกนั้น มี 3 ท่าหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
1.ท่านอนหงาย
2.ท่านอนตะแคง
3.ท่านั่ง

ท่านอนหงาย
- ศีรษะตรง หนุนหมอนในระดับปกติ ไม่เตี้ยหรือสูงจนเกินไป
- ใช้หมอนหรือผ้าหนา ๆ หนุนบริเวณหัวไหล่ เพื่อป้องกันสะบักบิดและหดไปด้านหลัง
- ใช้หมอนรองแขนข้างที่เป็นอัมพาต ให้เหยียดและกางออกเล็กน้อย หงายฝ่ามือขึ้น
- รองหมอนใต้เข่าทั้งสองข้าง ให้เข่าอยู่ในท่างอเล็กน้อย

ท่านอนตะแคง
ในท่านอนตะแคงนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ท่าด้วยกัน คือ
- ท่านอนตะแคงทับด้านที่เป็นอัมพาต
- ท่านอนตะแคงทับด้านปกติ

ท่านอนตะแคงทับด้านที่เป็นอัมพาต
- ศีรษะตรง หนุนหมอนในระดับปกติ ไม่เตี้ยหรือสูงจนเกินไป
- จัดแขนข้างที่เป็นอัมพาตให้ยื่นออกมาข้างหน้า งอข้อไหล่ประมาณ 90 องศา
- ใช้หมอนรองใต้ขาข้างปกติตลอดจนถึงฝ่าเท้า งอสะโพกและเข่า ไขว้ขาไปข้างหน้า
- งอเข่าข้างที่เป็นอัมพาตเล็กน้อย เหยียดสะโพกไปด้านหลัง

ท่านอนตะแคงทับด้านปกติ
- ศีรษะตรง หนุนหมอนในระดับปกติ ไม่เตี้ยหรือสูงจนเกินไป
- ยื่นแขนและสะบักข้างที่เป็นอัมพาตออกมาข้างหน้า งอข้อไหล่ประมาณ 90 องศา รองหมอนใต้แขนข้างที่เป็นอัมพาตตลอดจนถึงฝ่ามือ ให้อยู่ในท่าเหยียดตรง
- ใช้หมอนรองใต้ขาข้างที่เป็นอัมพาตตลอดจนถึงฝ่าเท้า งอสะโพกและเข่า ไขว้ขาไปข้างหน้า เพื่อให้สะโพกบิดไปข้างหน้า
- งอเข่าข้างปกติเล็กน้อย เหยียดสะโพกไปด้านหลัง

ท่านั่ง
- ศีรษะและลำตัวตรง
- วางแขนข้างที่เป็นอัมพาตไว้บนหมอนข้างลำตัว หนุนให้สูงจนหัวไหล่ข้างที่เป็นอัมพาตและข้างปกติอยู่ในระดับเดียวกัน หากนั่งบนเก้าอี้ หรือ Wheelchair ให้วางแขนบนที่พักแขนด้านข้าง
- จัดเท้าให้วางบนพื้นเต็มฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ถ้าสูงเกินไปจนเท้าลอยพ้นพื้น ให้ใช้กล่องเตี้ย ๆ มารองบริเวณฝ่าเท้า

ก็จบไปแล้วนะครับ สำหรับ ‘การจัดท่าในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก’ ในครั้งถัดไปเราจะมาพูดถึง ‘การเคลื่อนย้ายตัวในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก’ กันต่อ ส่วนจะมีเทคนิคหรือวิธีการอย่างไรบ้างนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ สำหรับวันนี้ผู้เขียนขอตัวลาไปก่อน แล้วเจอกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีครับ


เรียบเรียงโดย นางสาวจริญญา บุญริ้ว และ นายฐิติวัฒน์ ศรีบุญธรรม
โรงพยาบาลผู้สูงอายุและศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู Chersery Home
Tel: 084-264-2646 / 084-264-2662
Line id: @cherseryhome
Facebook: cherseryhome
www.cherseryhome.com
บอก"รัก"ผู้สูงวัย เชื่อใจให้เราดูแล
All the best for your elder

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy